เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมีบันทึกไว้หลายแห่ง โดยบันทึกไว้ว่า เจ้าแม่เกิดในตระกูล “ลิ้ม” มีชื่อว่า “กอเหนี่ยว” เป็นน้องสาวของ “ลิ้มเต้าเคียน” หรือ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” พักอาศัยอยู่ในมณฑลฮกเกี้ยนประเทศจีน เกิดในสมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ในราวปี พ.ศ. 2065-2109 มีพี่ชายชื่อ ลิ้มโต๊เคี่ยม รับราชการอยู่มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อบิดาถึงแก่กรรมลิ้มกอเหนี่ยวก็ต้องดูแลมารดาอยู่เพียงลำพัง เนื่องจากพี่ชายถูกใส่ร้ายจากขุนนางว่าสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่นเข้าปล้นตีเมืองตามชายฝั่ง จึงถูกทางการประกาศจับและได้หลบหนีออกนอกประเทศไปกับพรรคพวกไปอาศัยอยู่ที่เกาะใต้หวัน จนต่อมาได้นำสินค้ามาขายที่เมืองไทยขึ้นท่าสุดท้ายที่ปัตตานี บ้านกรือเซาะ และความรู้เป็นนายช่างผู้หล่อปืนใหญ่ 3 กระบอก คือ ศรีนครี มหาลาลอ และนางพญาตานี ให้เจ้าเมืองปัตตานี ซึ่งพอพระทัยมากจึงยกพระธิดาให้สมรสด้วยและได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม จนหลายปีต่อมา มารดาซึ่งอยู่ที่ประเทศจีนไม่เห็นบุตรชายกลับมา ก็ไม่ส่งข่าวคราวก็มีความคิดถึง ไม่เป็นอันกินอันนอน ลิ้มกอเหนี่ยวรู้สึกสงสารมารดาเป็นอย่างมากจึงอาสาออกตามหาพี่ชาย โดยออกเดินทางด้วยเรือสำเภาติดตามมาจนถึงเมืองไทย และได้พบพี่ชายที่บ้านกรือเซะ ลิ้มกอเหนี่ยวได้พำนักอยู่กับพี่ชายอยู่เป็นเวลานานและชักชวนพี่ชายให้กลับไปประเทศจีนเพื่อพบมารดาหลายครั้งแต่พี่ชายปฏิเสธไม่ยอมกลับ เนื่องด้วยในขณะนั้นกำลังเป็นผู้มีอำนาจในการก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ ด้วยความกตัญญูที่ไม่สามารถนำพี่ชายกลับมาหามารดาได้ จึงได้ทำอัตวินิบาตกรรมที่ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ ต่อมาฮวงซุ้ยและต้นมะม่วงหิมพานต์ได้เกิดนิมิตและอภินิหารให้ชาวบ้านไปบนบานหายเจ็บหายไข้ มีโชคลาภกัน จึงเป็นที่เคารถสักการะและได้นำเอาต้นมะม่วงหิมพานต์มาแกะเป็นรูปองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไว้สักการะจนมาถึงทุกวันนี้
มีเรื่องเล่าถึงปาฏิหาริย์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้แสดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและผู้สัญจรไปมาในแถบนั้นเสมอ จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนทำให้ผู้คนที่เคารพศรัทธาได้นำกิ่งมะม่วงหิมพานต์ที่นางใช้ผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาละสร้างศาลให้ไว้เป็นที่ประดิษฐาน พร้อมขนานนามว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” เมื่อตั้งศาลแล้วก็มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้มากมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปขอพรให้เจ้าแม่ช่วย บ้างก็ขอพรให้ทำมาค้าขายดี แล้วก็บังเกิดผลสมปรารถนากันแทบทุกคน ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจึงเลื่องลือไปทั่ว
ต่อพมาพระจีนคณานุรักษ์ (ต้นจูล่าย ต้นสกุล “คณานุรักษ์”) เห็นว่าศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะไม่สะดวกต่อการประกอบพิธี จึงได้ทำการบูรณะศาลเจ้าจูก๋ง บนถนนอาเนาะรู ในตัวเมืองปัตตานี และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวมาประดิษฐาน ภายหลังมีชื่อศาลว่า “เจ้าเล่งจูเกียง” (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “ศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว” มาจนกระทั่งทุกวันนี้