พระธาตุประจำปีฉลู

พระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู คือ พระธาตุลำปางหลวง เนื่องด้วยพระธาตุแห่งนี้ได้เริ่มสร้างในปีฉลูและแล้วเสร็จในปีฉลูเช่นกัน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของลำปางมาแต่โบราณ


ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกได้เสด็จมาถึงหมู่บ้านลัมภการีวัน มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ อ้ายคอน เกิดความเลื่อมใสจึงได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้พางและมะพร้าวมาถวาย พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพะกัปปะนคร แล้วทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้นมอบให้ลัวะอ้ายคอนนำไปประดิษฐานอยู่ในผอบทองคำแล้วใส่ลงอุโมงค์และถมดินให้เรียบเสมอกันก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานพระอรหันต์ก็ได้นำพระธาตุหน้าผากและพระธาตุลำคอมาประดิษฐานอยู่ที่นี่ด้วย ต่อมาก็มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ได้มาบูรณะซ่อมแซมจนกระทั่งเป็นวัดที่มีความสวยงามดังเช่นปัจจุบัน โดยภายในวัดก็มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่
วิหารหลวง เป็นวิหารขนาดใหญ่สร้างโดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก ภายในมีซุ้มปราสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ มีภาพจิตรกรรมเก่าแก่งดงามเล่าเรื่องทศชาติและพรหมจักร
วิหารพระพุทธ ไม่ปรากฎผู้สร้างและสร้างเมื่อใด อายุประมาณ 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่ง ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคาร อีกทั้งยังปรากฎเงาพระพุทธบาทในวิหารอีกด้วย
วิหารน้ำแต้มหรือวิหารภาพเขียนสี เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ภายในเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่งดงาม ไม่มีฝ้าเพดาน มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่คาดว่าเก่าแก่ที่สุดและหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย
วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ พระบิดาของพระนางจามเทวีได้มอบไว้ให้ประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้
ซุ้มพระบาท สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ภายในมองเห็นแสดงหักเหปรากฎเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
กุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต อายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี ไม่ปรากฎว่าสร้าเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง

คำกล่าวบูชาพระธาตุลำปางหลวง
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวา จีรัง ปะติฏฐา ลัมภะกัปปะปุเร เทเวนะ
คุตตา อุตตะราภิธัยยา นะมามิหันตัง วะระชินะธาตุง
กุมาระกัสสะปะ นะราตะธาตุโย เมฆิยะมะหาเถโร กะนะธาตุง
ฐะเปติ มะหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย