พระธาตุประจำปีมะโรง

พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง ไม่ใช่เป็นองค์พระธาตุ แต่เป็น พระพุทธสิหิงค์ ตามพระนามที่กรุงเทพมหานคร หรือ พระสิงห์ ตามพระนามที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของไทยมาแต่โบราณ


ปัจจุบันองค์พระประดิษฐานอยู่ 3 ที่ คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร วิหารลายคำ วัดพระสิห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ และหอพระพุทธสิหิงค์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยที่พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และนครศรีธรรมราชนั้นจะเป็นพุทธลักษณะปางมารวิชัย เป็นศิลปะแบบเชียงแสนสิงค์หนึ่ง คือ เป็นพุทธลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชร ส่วนองค์ที่กรุงเทพจะเป็นพุทธลักษณะปางสมาธิ เป็นศิลปะแบบลังกา คือ เป็นพุทธลักษณะนั่งขัดสมาธิราบ ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 70 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบลังกา สร้างโดยพระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีป ต่อมาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ทูลขอมาถวายแด่พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น ก็ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา จากนั้นก็ได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองสำคัญทั้งกำแพงเพชรและเชียงราย จนเมื่อพระเจ้าแสนเนืองมา เจ้านครเชียงใหม่ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ ก็อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานอยู่ที่นครเชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต ครั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยกทัพมาตีนครเชียงใหม่ได้ ก็อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยา จนเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าชาวเชียงใหม่ก็ได้มาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปยังเชียงใหม่ จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทหรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทซึ่งเป็นพระราชอนุชาก็โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานยังกรุงเทพมหานคร ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์
ในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานบนบุษบกเพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคนได้กราบสักการะขอพรและสรงน้ำพระเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต

คำกล่าวบูชาพระธาตุแช่แห้ง
นะมามิ สิหิงคะพิมพัง สุวัณณาภิรัมมัง ลังกาชาดัง
โสภาภิโสภัง สะราภิกันตัง นะมามิหัง